โครงการจัดทำเขตปลอดโรคของภาคตะวันออก ปี2555 งบประมาณ 30 ล้านบาท
โครงการจัดทำเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ๑. หลักการและเหตุผล ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เป็นผลมาจากความสามารถในการพัฒนาด้านการผลิตปศุสัตว์และรูปแบบอาหารต่างๆ รวมทั้งความสามารถด้านการตลาดของภาคเอกชนผู้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออก และภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ทำให้หลายประเทศยอมรับสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามข้อจำกัดในการส่งออกอันเนื่องมาจากภาวการณ์แข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นข้อกำหนด ที่สำคัญในการกีดกันการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ของต่างประเทศ การกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยให้หมดไปจากประเทศไทย จำเป็นต้องใช้กำลังคน และงบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งต้องอาศัยระยะเวลาดำเนินการนานปี ต่างกับการกำหนดเขตปลอดโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นบางส่วนของประเทศ เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งมีความเป็นไปได้สูง และใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการกำจัดโรคนี้ทั้งประเทศ ดังนั้น หากพื้นที่เขตปศุสัตว์ที่มีการผลิตสัตว์ได้มากและปลอดต่อโรคปากและเท้าเปื่อยแล้ว จะเป็นหนทางสำคัญ ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยสามารถขยายตัว ในด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้ ปัจจุบันภาคตะวันออกของประเทศไทยมีผลผลิตปศุสัตว์เพียงพอสำหรับการบริโภคและเหลือส่งไปจำหน่ายยังนอกพื้นที่เขตโดยเฉพาะสุกร ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยน้อย จึงมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งให้ภาคตะวันออกเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งผ่านการรับรองโดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ๒. วัตถุประสงค์ ๒.๑. เพื่อกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทยให้หมดไป ๒.๒. เพื่อให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE (Office International des Epizooties) รับรองสถานภาพปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ๒.๓. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ๓. พื้นที่ดำเนินการ จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี จันทบุรี สระแก้ว และตราด ๔. เป้าหมาย และระยะเวลา ดำเนินการปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๖ รวม ๕ ปี ๔.๑ ดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างเข้มงวด ๔.๒ ไม่มีสัตว์แสดงอาการของโรคปากและเท้าเปื่อย ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ๔.๓ ในปี ๒๕๕๔ เป็นต้นไปมีหลักฐานแสดงว่าไม่พบเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยจากการสุ่มตรวจซีรั่มสัตว์ในพื้นที่ ๔.๔ ในปี ๒๕๕๕ ขอรับการประเมินจาก OIE เพื่อรับรองสถานภาพปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย โดยการฉีดวัคซีน ๔.๕ ในปี ๒๕๕๖ ได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยโดยการฉีดวัคซีนจาก OIE ๕. วิธีดำเนินงาน
๕.๑ การบริหารจัดการโครงการ (๑) จัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการในแต่ละระดับ - ระดับกรม - อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน - ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เป็นเลขานุการ - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ - ระดับเขต - ผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ ๒ เป็นประธาน - ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ ๒ เป็นกรรมการ - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตปศุสัตว์ที่ ๒ เป็นกรรมการ - ระดับจังหวัด - ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน - ปศุสัตว์จังหวัด เป็นเลขานุการ - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัด เป็นกรรมการ (๒) จัดตั้งคณะทำงานบริหารโครงการ (๓) จัดหาและจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอในการดำเนินงานโครงการ (๔) การพัฒนาบุคลากร / ผู้ประกอบการค้า / เกษตรกร - ฝึกอบรม / สัมมนา - ศึกษาดูงาน (๕) การนิเทศและติดตามผลการปฏิบัติงาน - เจ้าหน้าที่ - ติดตามและตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้อง - ตรวจสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่บกพร่องและลงโทษทางวินัย - ผู้ประกอบการ / เกษตรกร - นิเทศและติดตามการประกอบการให้เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการที่กฎหมายกำหนด - ดำเนินคดีหากพบการกระทำผิด (๖) บูรณาการอัตรากำลัง - หน่วยงานภายในกรม - หน่วยงานภายนอกกรม เช่น มหาวิทยาลัย - ภาคเอกชน ๕.๒ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ (๑) เขตควบคุมโรค (Control Zone) เพื่อเตรียมเป็นเขตปลอดโรค (Free Zone) - เป็นพื้นที่ชั้นในของภาคตะวันออก ประกอบด้วย ส่วนหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว ส่วนหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยองทั้งจังหวัด และจังหวัดชลบุรีทั้งจังหวัด (๒) เขตกันชน (Buffer Zone) ที่แบ่งกั้นระหว่างเขตควบคุมและเขตพื้นที่นอกเขตปลอดโรค - ทิศเหนือกำหนดให้เทือกเขาใหญ่เป็นเขตกันชน โดยมีทางหลวงหมายเลข ๓๓ เป็นแนวแบ่งแยก - ทิศตะวันตกกำหนดให้แม่น้ำบางปะกงเป็นแนวแบ่งแยก - ทิศตะวันออกกำหนดให้ทางหลวงหมายเลข ๓๑๗ และหมายเลข ๓ เป็นแนวแบ่งแยก - ทิศใต้กำหนดให้อ่าวไทยเป็นเขตกันชน ๕.๓ การจัดทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์และกำหนดพิกัดสถานที่ที่เกี่ยวข้อง (๑) โค กระบือ แพะ แกะ ทุกตัวต้องทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนตามระบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด (๒) สุกรพ่อแม่พันธุ์ทุกตัวต้องทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนตามระบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด (๓) ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการเก็บข้อมูลประวัติสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนและค้นหาข้อมูลในระบบ Real Time on Web (๔) การกำหนดพิกัดที่ตั้ง สถานที่ต่างๆ ในระบบ Geographic Information System (GIS) เช่น สถานที่เลี้ยงสัตว์กีบคู่ทุกชนิด โรงฆ่าสัตว์กีบคู่ ตลาดนัดค้าสัตว์กีบคู่ ด่านกักกันสัตว์ จุดตรวจสัตว์ ฯลฯ ๕.๔ การเฝ้าระวังโรค (๑) การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) - ทางอาการ - สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเห็นความสำคัญในการแจ้งการเกิดโรคให้เร็วที่สุด - จัดระบบให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานตรวจเยี่ยมเฝ้าระวังโรคเป็นประจำ - สร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ - ทางห้องปฏิบัติการ - สุ่มตรวจทางซีรั่มวิทยาเพื่อค้นหาโรคจากหลักฐานแสดงการติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย และตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันโรคในตัวสัตว์ - จัดทำธนาคารซีรั่ม (Serum Bank) (๒) การเฝ้าระวังเชิงรับ (Passive Surveillance) - ทางอาการ - จัดตั้งศูนย์รับแจ้งโรคระบาดประจำตำบล - จัดระบบ Call Center รับแจ้งโรคระบาด - ทางห้องปฏิบัติการ - ตรวจแยกชนิดเชื้อไวรัสตามมาตรฐานสากล - การเฝ้าระวังทางพันธุกรรมของเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย (Molecular Epidemiology) - ระบบรายงานสม่ำเสมอ (๓) จัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างรวดเร็วที่ด่านกักกันสัตว์ตามแนวเขตรอบนอกของเขตกันชน ๕.๕ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อยโดยการฉีดวัคซีน (๑) การสร้างภูมิคุ้มกันให้โค กระบือ แพะ แกะ - ฝึกอบรมให้เจ้าของสัตว์สามารถฉีดวัคซีนได้เอง - กำหนดช่วงเวลารณรงค์ฉีดวัคซีนปีละ ๒ ครั้ง คือ มิถุนายน และ ธันวาคม - จัดระบบการตรวจสอบให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจริง โดยใช้ทั้งกฎหมายและส่งเสริมระบบการซื้อขายสัตว์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว (๒) การสร้างภูมิคุ้มกันให้สุกร - กรมปศุสัตว์จัดเตรียมวัคซีนจำหน่ายให้เพียงพอ - จัดระบบให้สมาคมหรือกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรตรวจสอบควบคุมให้มีการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัด (๓) สนับสนุนช่วยเหลือประเทศกัมพูชาผ่านองค์กรระหว่างประทศในการป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้กับสัตว์ตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทย (๔) พัฒนาระบบการผลิตวัคซีนให้ได้มาตรฐานที่ OIกำหนด ๕.๖ การควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ (๑) การอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์เข้าในเขตกันชนหรือเขตควบคุมโรคต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเด็น ดังนี้ - สัตว์กีบคู่ - มีประวัติได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยตามกำหนด - ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๔เป็นต้นไป ต้องมีหลักฐานทางซีรั่มวิทยา ไม่พบการติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย - ซากสัตว์กีบคู่ - ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นไปต้องเป็นซากสัตว์ที่ถอดกระดูกแล้ว (Deboned meat) และได้จากสัตว์ที่ผ่านการตรวจซีรั่มไม่พบการติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย (๒) การนำเข้าสัตว์กีบคู่จากประเทศกัมพูชาในช่องทางที่ติดต่อกับเขตกันชน ให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมปสุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเด็น ดังนี้ - สัตว์นั้นต้องมีหลักฐานไม่พบการติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย โดยการตรวจซีรั่ม - สัตว์นั้นต้องมีภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อยในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ทั้ง ๓ ไทป์ (๓) พัฒนาปรับปรุงด่านกักกันสัตว์ - เพิ่มประสิทธิภาพจุดตรวจสัตว์ตลอดแนวระหว่างเขตควบคุมโรคกับเขตกันชนและระหว่างเขตกันชนกับเขตปกติ - เพิ่มอัตรากำลังสารวัตรกรมปศุสัตว์ให้เพียงพอ - สนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและความมั่นคง และศุลกากรในการปฏิบัติงานปราบปราม - จัดหายานพาหนะและป้อมจุดตรวจสัตว์ให้เพียงพอ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการตั้งจุดตรวจ - เพิ่มประสิทธิภาพการกักตรวจสัตว์ - พัฒนาปรับปรุงสถานที่กักตรวจสัตว์ให้พร้อมรองรับสัตว์ที่จะนำเข้าในเขตกันชน หรือเขตควบคุมโรค - จัดระบบการกักกัน และตรวจสัตว์ระหว่างกักให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ๕.๗ การควบคุมโรค (๑) การซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง (๒) พัฒนาปรับปรุงระบบรายงานโรค และเก็บตัวอย่างให้รวดเร็ว ถูกต้อง (๓) ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ รวมทั้งพาหะของโรค โดยรอบจุดเกิดโรคอย่างเข้มงวด ในรัศมี ๕ กิโลเมตร และ ๑๐ กิโลเมตร (๔) สอบสวนโรค โดยใช้หลักระบาดวิทยา และสอบหาข้อมูลหลักฐาน เพื่อสรุปวิเคราะห์สาเหตุการเกิดโรคได้ถูกต้อง (๕) ทำลายสัตว์ - ทำลายสัตว์ป่วยและสัตว์ที่สัมผัสสัตว์ป่วยทั้งหมด โดยไม่มีการกักรักษา ทั้งในเขตกันชนและเขตปลอดโรค - จัดหาค่าชดใช้ให้เพียงพอ โดยชดใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด - พัฒนาปรับปรุงวิธีการทำลายให้ถูกสุขลักษณะ ตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (๖) ทำลายเชื้อโรคให้ทั่วถึง (๗) สร้างภูมิคุ้มกันเร่งด่วน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในลักษณะวงแหวน (Ring Vaccination) ให้สัตว์กีบคู่ในรัศมี ๕ กิโลเมตร จากจุดเกิดโรคหรือสามารถขยายหรือลดรัศมีการฉีดวัคซีนได้ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนขวดเดียวกัน รวมทั้งอุปกรณ์ฉีดวัคซีนในสัตว์ต่างฝูงกัน และต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากคน ยานพาหนะ และอุปกรณ์ (๘) เฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรคทั้งทางอาการและทางห้องปฏิบัติการ (๙) การเตือนภัยให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อป้องกันตนเอง (๑๐) การพัฒนาห้องควบคุมโรค (War room) ให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานบริหารจัดการวางแผนควบคุมสั่งการให้การป้องกัน ควบคุม กำจัดโรคมีประสิทธิภาพ - ห้องควบคุมโรคประจำส่วนกลาง - ห้องควบคุมโรคประจำสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ ๒ - ห้องควบคุมโรคประจำจังหวัด (๑๑) สาเหตุให้เกิดหรือแพร่กระจายโรค (๑๒) พัฒนาชุดเฉพาะกิจควบคุมโรคประจำสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ ๒ ให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานตลอดเวลา (Task Force Unit )
๕.๘ การประชาสัมพันธ์และเตือนภัย (๑) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ประกอบการค้าสัตว์และประชาชนทั่วไปได้มีความรู้เกี่ยวกับโรคปากและเท้าเปื่อย วิธีการแพร่ระบาดของโรค วิธีการควบคุมและป้องกันโรค และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคปากและเท้าเปื่อย นอกจากนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงการดำเนินงานกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยของกรมปศุสัตว์ รวมถึงข้อกำหนดและระเบียบของกรมปศุสัตว์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าภาคตะวันออก และผลประโยชน์ที่จะได้รับต่อตนเองและประเทศชาติโดยส่วนรวม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานต่อไป วิธีการดำเนินการประชาสัมพันธ์นั้นให้ใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ โสตทัศนูปกรณ์ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเน้นใช้สื่อเหล่านี้ไปยังกลุ่มบุคคลเป้าหมายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นและดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง (๒) จัดให้มีการประชุมสัมมนาระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี บริษัทที่ประกอบธุรกิจเลี้ยงสัตว์และค้าสัตว์ สถานีโทรทัศน์และวิทยุต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการดำเนินงานไปในทางเดียวกันและมีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ (๓) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสนใจที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดปัญหาการแพร่โรคที่เกิดจากระบบการเลี้ยงและโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดสัตว์หรือโรคสัตว์สู่คน (Zoonosis) ๕.๙ ความร่วมมือระหว่างประเทศ (๑) จัดสร้างความร่วมมือทางวิชาการโดยมีการประสานงานและขอความสนับสนุนจาก FAO/APHCA/RCU และ OIE โดยประเทศไทยจะช่วยเหลือทางด้านวิชาการของโรคปากและเท้าเปื่อย เช่น ด้านการตรวจวินิจฉัย ด้านการผลิตวัคซีน การศึกษาทางระบาดวิทยา การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เป็นต้น (๒) สนับสนุนด้านวัคซีนให้แก่กัมพูชา เพื่อใช้กับสัตว์ในพื้นที่ชายแดนติดต่อกับภาคตะวันออกเพื่อเป็น Buffer zone ให้กับเขตปลอดโรค (๓) ทำความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ (๔) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาจัดทำแผนการป้องกันและกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศกัมพูชา (๕) จัดทำโครงการร่วมมือในการทำ Sero-surveillance บริเวณชายแดนกัมพูชาที่ติดต่อกับภาคตะวันออกของประเทศไทย (๖) การเสนอขอรับรองเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย จาก OIE - มีแนวกันชน (Buffer Zone) กั้นระหว่างเขตปลอดโรคกับเขตปกติ - มีการรายงานภาวะโรคต่อ OIE อย่างสม่ำเสมอ - ไม่มีการระบาดของโรคในช่วง ๒ ปี ก่อนยื่นขอรับรอง - มีหลักฐานทางซีรั่มไม่พบเชื้อ FMDV ในช่วง ๑ ปีก่อนยื่นขอรับรอง - มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้กับสัตว์กีบคู่ในพื้นที่เป็นประจำ โดยวัคซีนต้องมีมาตรฐานที่ OIE. กำหนด - มีระบบควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ไวต่อการติดต่อโรคปากและเท้าเปื่อยเข้าพื้นที่ปลอดโรคอย่างเข้มงวด ๕.๑๐ การรับรองฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (๑) ฟาร์มต้องผ่านมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ (๒) สัตว์ในฟาร์มต้องมีระบบการบันทึกข้อมูลเป็นรายตัวหรือรายฝูง (๓) มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ เมื่อเกิดโรคระบาดในฟาร์ม (๔) มีการตรวจซีรั่ม - หลักฐานแสดงการไม่มีเชื้อโรคในฟาร์ม - หลักฐานแสดงระดับภูมิคุ้มกันโรค (๕) สัตว์ที่จะนำเข้าฟาร์มต้องมีสถานะด้านสุขภาพสัตว์เดียวกันหรือสูงกว่าในฟาร์ม (๖) พื้นที่โดยรอบฟาร์มในรัศมีไม่ต่ำกว่า ๑๐ กิโลเมตร ต้องมีการควบคุม ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด รวมทั้งการตรวจซีรั่มสัตว์เช่นเดียวกับในฟาร์ม ๕.๑๑ การพัฒนาโรงฆ่าสัตว์กีบคู่ (๑) สนับสนุนเงินทุนพัฒนาโรงฆ่าให้ได้มาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด (๒) พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (๓) จัดระบบให้โรงฆ่าสัตว์รับเฉพาะสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐาน หรือให้มีระบบกีดกันสัตว์ที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ๕.๑๒ การพัฒนาปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์รายย่อย (Backyard) (๑) สนับสนุนช่วยเหลือให้มีการเลี้ยงภายใต้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (๒) ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงรายย่อย (๓) ส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่มีบทบาทในการดูแลสนับสนุนช่วยเหลือผู้เลี้ยงรายย่อย ๕.๑๓ การพัฒนาปรับปรุงผู้ประกอบการรับซื้อสัตว์และขนส่งสัตว์กีบคู่ (๑) ขึ้นทะเบียนผู้รับซื้อสัตว์ (๒) ฝึกอบรมและสร้างแรงจูงใจให้สามารถเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังโรค (๓) ปรับปรุงยานพาหนะบรรทุกสัตว์ รวมทั้งระบบการขนส่งสัตว์ให้เหมาะสมไม่เป็นการทารุณสัตว์ (๔) ปรับปรุงสถานที่แปรรูปสัตว์ตายให้ถูกสุขลักษณะภายใต้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ๕.๑๔ ส่งเสริมการเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะให้เพียงพอ เพิ่มปริมาณแม่โค กระบือ แพะ แกะ ให้มากพอที่จะผลิตลูกให้เพียงพอสำหรับบริโภคภายในเขตปลอดโรคและเขตกันชน โดยมิต้องนำเข้ามาจากพื้นที่อื่นนอกเขตกันชน ๕.๑๕ การเจรจาเปิดตลาดการค้าสัตว์และซากสัตว์ (๑) จัดตั้งคณะเจรจาประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (๒) เตรียมความพร้อมในทุกด้านให้กับคณะเจรจา ๕.๑๖ การติดตามประเมินผล (๑) จัดตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผล โดยมีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย (๒) ประเมินผลการดำเนินงานอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ๖. ตัวชี้วัดความสำเร็จ (๑) จำนวนฟาร์มสุกรมาตรฐานได้รับการรับรองฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ไม่น้อยกว่า ๕% ของจำนวนฟาร์มสุกรมาตรฐานทั้งหมด ต่อปี (๒) ส่งออกสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์ประเภทโค กระบือ สุกร แพะ แกะ ไปจำหน่ายต่างประเทศ ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๕% ต่อปี
๗. หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๘. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๘.๑ สามารถส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ คิดเป็นมูลค่าเริ่มต้นกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ๘.๒ ลดค่าใช้จ่ายด้านการควบคุมป้องกันกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศ เช่น ค่าวัคซีน ค่ารักษาพยาบาล คิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ ๓๐ ล้านบาท ๘.๓ ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ กรณีผลผลิตด้านปศุสัตว์ลดลง จากการเกิดโรคระบาด ๘.๔ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเลี้ยงปศุสัตว์ และสามารถยึดอาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลักที่มั่นคงได้ ๘.๕ เป็นแนวทางในการที่จะกำจัดโรคระบาดในปศุสัตว์ที่สำคัญชนิดอื่นต่อไปในอนาคต |