สมาคมผู้เลี้ยงแพะ-แกะแห่งประเทศไทย

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
แชร์หน้านี้ไปที่ไลน์หรือเฟสบุ๊คได้ทันที คลิ๊กที่ปุ่ม . Share
ดู: 2001|ตอบ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

[ภาคกลาง] รบกวนหน่อยนะคะ ขอคำแนะนำในการเลี้ยงแพะ [คัดลอกลิงก์]

Rank: 1

จังหวัด
ประจวบคีรีขันธ์
กระทู้
1
โพสต์
1
สวัสดีค่ะ พอดีเพิ่งเล้ยงแพะเนื้ออยากขอคำแนะนำจากผู้รุ้ค่ะอาจจะเป็นคำถามง่ายๆสำหรับคนที่เลี้ยงแพะและรุ้จักแพะดีแต่สำหรับเรา เราไม่รุ้จิงๆ

1.แพะเนื้อควรได้รับอาหารข้นวันล่ะกี่%ของ นน ตัวค่ะ 2.อาหารหยาบควรให้ยังงัยค่ะ (ตอนนี้มีหญ่าเนเปียร์สับกับต้นข้าวโพดสับไม่รุ้ว่าอันไหนจะดีกว่ากันในการเลี้ยงแพะขุน)
3.ควรให้อาหารข้นโปรตีนเท่าไหรถึงจะเหมาะกับการเลี้ยงขุน(ถามแต่ล่ะคนตอบไม่เหมือนกันเลยสับสน)
4.อาหารโคขุนสามารถใช้เลี้ยงแพะขุนได้รึป่าวค่ะ

ขอโทษน่ะคะเรามือใหม่จิงๆอยากรุ้ข้อมุลที่แน่ชัดเพราะก่อนๆก็ฟังแต่คนรอบๆตัวเห็นแพะน้ำหนักตัวไม่ดีขึ้นสักที
ตอนนี้ให้อาหารแพะวันล่ะ 4ครั้งไม่รุ้ว่าเยอะไปรึป่าว
ขอบคุณมากๆนะคะ

Rank: 13Rank: 13Rank: 13

จังหวัด
กรุงเทพมหานคร
กระทู้
19
โพสต์
533
อาหารและการให้อาหารแพะ-แกะ
           แพะเป็นสัตว์ที่กินอาหารง่าย  และกินอาหารได้หลายอย่าง  แต่แพะก็ยังตายด้วยโรคซึ่งเกิดจากอาหาร  เช่น  โรคท้องอืด  โรคลำไส้อักเสบเป็นพิษ  (Enterotoxaemia)  เป็นต้น  ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงยังต้องเอาใจใส่เรื่องอาหารเป็นอย่างดี
          แพะเป็นสัตว์เคียวเอื้อง  เช่น  โค  กระบือ  แต่แพะกินอาหารได้เก่งกว่า  จุกว่า  แกะและโค  นั่นคือสามารถกินอาหารแห้งได้ถึง  6.5-11%  ของน้ำหนักตัว ในขณะที่โคและแกะกินอาหารแห้งได้เพียง  2.5-3%  ของน้ำหนักตัว
          ดังนั้นแพะน้ำหนักตัว  30  กิโลกรัม  จึงสามารถกินอาหารแห้งได้  วันละ  1.95-3.3  กิโลกรัม  และกินอาหารสดได้ถึง  5.9-10  กิโลกรัม
          แพะเป็นสัตว์ที่เดินทางหาอาหารกินได้ไกล  กินใบไม้พุ่มไม้และหญ้าดีมากกว่าสัตว์อื่น  หากจะมีการเสริมอาหารข้นแก่โคนมและแพะจำนวน  60  กิโลกรัม  เท่ากันแล้ว  แพะจะผลิตน้ำนมได้มากกว่าโคนมถึง  2  ลิตร  แต่โดยปกติจะไม่ให้แพะกินอาหารข้นเกิน  50%  ของปริมาณอาหารที่กินทั้งหมด 
 ประเภทอาหารแพะและแกะ
1.       อาหารหยาบ
ประกอบด้วยพืชหญ้าต่างๆ  ดังต่อไปนี้
1.1    พืชตระกูลหญ้า  เป็นพวกที่มีลำต้นและใบอ่อนนิ่ม  ต้นไม่โตนัก  เช่น  หญ้าขน  เนเปียร์  รูซี่  แพงโกลา  เฮมิล  ฯลฯ
1.2   พืชตระกูลถั่ว  ทั้งถั่วกอตั้งและถั่วต้นเลื้อย  และไม้ยืนต้นกระกูลถั่ว  เช่น  ถั่วลาย  ถั่วฮามาต้า  กระถิน  และแคไทย  ซึ่งอาจจะปลูกพืชตระกูลถั่วปนหญ้าชนิดอื่น  หรือปลูกแต่ถั่วแล้วตัดมัดเป็นฟ่อนๆ  ให้แพะกินก็ได้
1.3   ไม้พุ่มและไม้อื่นๆ  เช่น  มันสำปะหลัง  กล้วย  ต้นหม่อนไทย  พุทธรักษา  ชบา  พู่ระหง  และผักต่างๆ   นอกจากนี้แพะยังชอบกินใบทองหลาง  มะขามเทศ  โสน  และเถามันเทศ  ฯลฯ
1.4   พืชแห้งหรือพืชหมัก  โดยปกติแล้วไม่นิยมให้แพะกินอาหารพืชหมัก  เนื่องจากมีน้ำปนอยู่มากถึง  65-70%  ถ้าให้แพะกินพืชหมัก  1.25-1.5  กิโลกรัม  เท่ากับกินหญ้าแห้ง  0.5 กิโลกรัม  จึงจะแทนกันได้  แพะที่โตเต็มที่จะกินพืชหมักได้มากที่สุดวันละ  0.75-1  กิโลกรัม  อย่าให้อาหารพืชหมักเลี้ยงลูกแพะ  เพราะจะทำให้ท้องเสีย  รอจนกระทั่งอวัยวะระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้เต็มที่แล้วจึงจะกินได้
             2.   อาหารข้น
ได้แก่  พวกเมล็ดธัญพืช  เช่น  กากถั่วเหลือง  กากถั่วลิสง  เมล็ดถั่วเขียว  มันเส้น  ใบกระถินป่น  ข้าวโพด  ปลายข้าว  รำละเอียด
          อาหารข้นใช้สำหรับเลี้ยงแพะเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสารอาหารที่ได้รับไม่พอเนื่องจากการกินอาหารหยาบ  โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่หญ้าไม่พอกิน  และเสริมสำหรับแพะนมที่ต้องการสารอาหารจำนวนมากในระยะให้นม  การให้อาหารข้นเลี้ยงแพะจึงให้แต่เฉพาะที่จำเป็น  ตามความต้องการเท่านั้น  จะไม่ให้จนแพะอ้วน  เพราะแพะอ้วนง่ายและแพะอ้วนจะผสมติดยาก  อาหารข้นสำหรับแพะนมควรมีสัดส่วนโปรตีน  18-21%
           นอกจากนั้นแพะยังต้องการแร่ธาตุไว้เสริมตลอดเวลา  เพราะแพะเป็นสัตว์ที่เป็นโรคขาดแร่ธาตุได้ง่าย ถ้าผู้เลี้ยงแพะรายใดไม่มีเกลือแร่สำหรับเสริมอย่างสม่ำเสมอแพะจะไม่สมบูรณ์  การผสมพันธุ์ไม่มีประสิทธิภาพ  เจ็บป่วยบ่อย  อัตราการสูญเสียสูง  ดังนั้น  คอกเลี้ยงแพะและแกะจำเป็นต้องมีก้อนแร่ธาตุทิ้งไว้ให้เลียตามความต้องการของมัน  โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีโรคพยาธิภายในรุนแรง  จะช่วยป้องกันแพะและแกะแสดงอาการเป็นโลหิตจางเนื่องจากพยาธิได้เป็นอย่างดี
 3.   น้ำสำหรับเลี้ยงแพะและแกะ
          แพะเลือกกินน้ำสะอาด  ต้องไม่ค้างในภาชนะจนมีกลิ่นเหม็น  แพะไม่ชอบกินน้ำซึ่งมีสัตว์อื่นกินก่อนแล้ว  ดังนั้นน้ำเลี้ยงแพะต้องสะอาดและเปลี่ยนน้ำอยู่บ่อยๆ  จะทำให้แพะกินน้ำได้มากขึ้น  ปกติแพะจะกินน้ำสะอาดวันละ  4-5  เท่า  ของปริมาณอาหารแห้งที่กินเข้าไป  ในตอนกลางวันแพะจะกินน้ำได้มากกว่าตอนกลางคืน
 อุปนิสัยและพฤติกรรมการกินอาหารของแพะ  
          แพะสามารถกินอาหารได้หลายชนิดมากกว่าโคและแกะ  แต่อย่างไรก็ตามแพะยังมีนิสัย
เลือกกินเหมือนสัตว์ชนิดอื่น  คือ
                   1.       แพะแต่ละตัวอาจไม่ชอบพืชเหมือนกันก็ได้  แพะไม่ชอบกินอาหารที่ถูกตัวอื่นเหยียบย่ำ  และ           ชอบกินอาหารหลายๆ  อย่างพร้อมกัน  เช่น  กินหญ้า  กินใบไม้  โดยมักจะกินใบมากกว่าลำต้น
2.      ในฤดูกาลที่ต่างกัน  แพะจะกินอาหารเปลี่ยนไปอีกด้วย  แพะกินหญ้าทั้งในแปลงและหญ้าที่ตัดเป็นฟ่อน  แพะชอบกินอาหารที่วางบนที่สูง  พอเหมาะกับการยื่นคอไปกิน  แพะไม่ชอบกินอาหารที่ต่ำ  ซึ่งต้องก้มลงกิน
3.      การเลี้ยงแพะหากไม่ควบคุมดูแลให้ดี  แพะอาจทำลายผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่รอบๆ  บ้านให้เสียหายได้  โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยงแพะแบบปล่อยลาน
การจัดการให้อาหารแพะ
1.       การให้อาหารแพะตั้งท้อง
แม่แพะจำเป็นต้องนำอาหารไปเพื่อบำรุงลูกในท้อง  และสะสมเป็นไขมันเพื่อใช้ก่อนคลอดอีก
ด้วย  ในกรณีที่เป็นแม่แพะสาวซึ่งยังเติบโตไม่เต็มที่  ยังจำเป็นต้องนำอาหารไปใช้เพื่อการเติบโตของตนเองอีกด้วย  แพะสาวนั้นจึงจะเจริญเติบโตได้ตามปกติ  จำนวนอาหารข้นสำหรับแม่แพะอุ้มท้องประมาณตัวละ  0.6-0.7  กก./วัน(โปรตีน  16-18%)  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพทั่วไปของแม่แพะ  ให้หญ้าสดและหญ้าแห้งคุณภาพดี  ถ้าเป็นแม่แพะที่รีดนมอยู่ควรหยุดรีดนมก่อนครบกำหนดคลอด  6  สัปดาห์  เมื่อใกล้คลอด  4-5  วัน  จะต้องลดอาหารเมล็ดธัญพืช  โดยเพิ่มรำข้าวแทน  เพื่อช่วยระบายท้อง
2.      การให้อาหารแพะที่กำลังให้นม
แม่แพะที่กำลังให้นมควรให้อาหารที่มีโปรตีน  16-18%  วันละประมาณ  0.3-0.5  กก./ปริมาณ
น้ำนมที่ได้  1  กิโลกรัม  แต่ถ้าหากมีแปลงหญ้าแล้วสามารถลดอาหารลงได้ครึ่งหนึ่ง
          ขั้นตอนการให้อาหารแพะนมควรปฏิบัติดังนี้
2.1   ลดอาหารข้นลงให้เหลือวันละ  0.2  กิโลกรัม/วัน  ก่อนคลอดหนึ่งสัปดาห์
2.2  ให้อาหารข้นวันละ 0.2-0.4  กิโลกรัม/วัน  เป็นเวลา   2  สัปดาห์  หลังจากคลอดลูก
2.3  หลังจากคลอดลูกแล้ว  2  สัปดาห์  ให้ค่อยๆ  เพิ่มอาหารข้นมากขึ้นตามปริมาณน้ำนมที่
รีดได้  คือประมาณ  0.3-0.5  กิโลกรัม/น้ำนม  1  กิโลกรัม
2.4  เมื่อให้อาหารแม่แพะแล้ว  ต้องคอยสังเกตว่าแม่แพะกินอาหารที่ให้นั้นหมดหรือไม่ถ้า
ไม่หมดให้ลดอาหารลงจนกระทั่งแม่แพะกินหมด  การให้อาหารแม่แพะรีดนมแยกให้ทีละตัว  และให้ในขณะรีดนม
3.      การให้อาหารลูกแพะ
ลูกแพะตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านมสามารถเลี้ยงโดยให้ดูดนมแม่โดยตรง  รีดให้กิน  หรือ
เลี้ยงด้วยนมเทียม  แต่จะโดยวิธีใดก็ตามลูกแพะต้องได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่นานประมาณ  3-4  วัน    ในกรณีที่นมแพะขายได้ราคาดีผู้เลี้ยงก็ควรจะให้ลูกแพะกินนมเทียมแทน  การเลี้ยงแพะโดยนมเทียมอาจใช้วิธีให้ดูดจากขวดหรือใส่ภาชนะให้เลียกิน  การฝึกหัดควรทำตั้งแต่แรกเกิดใหม่ๆ  ก่อนที่ลูกแพะจะดูดนมจากเต้าแม่เป็น  นั่นคือแยกลูกจากแม่ทันทีที่คลอด  แล้วรีดนมน้ำเหลืองจากแม่ใส่ขวดแล้วป้อนลูกแพะ  ทำเช่นนี้  3-4  วัน  จึงเริ่มเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมเทียมต่อไป
          การเลี้ยงลูกแพะด้วยนมเทียม  ให้ปฏิบัติดังนี้
          3.1   อุ่นนมที่ละลายน้ำแล้ว  ให้มีอุณหภูมิ  40  องศาเซนเซียส  ก่อนให้ลูกแพะกินทุกครั้ง
3.2  ล้างขวด  หัวนม  และจานใส่นมให้สะอาด  หลังจากลูกแพะกินนมแล้วทุกครั้งไป
3.3  ให้ลูกแพะกินนมเทียม  ประมาณวันละ  0.7-0.9  ลิตร  โดยแบ่งให้เป็น  3-5 ครั้ง  ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งอายุ  2  สัปดาห์
3.4  เริ่มให้อาหารลูกอ่อน  (Calf  Starter)  เมื่อลูกแพะอายุได้  3-4  สัปดาห์  แล้วค่อยๆ  เพิ่มปริมาณอาหารข้น  ตามที่ลูกแพะกินแล้วท้องไม่เสีย
3.5  ควรให้ลูกแพะหย่านมเมื่ออายุ  3  เดือน  (Weaning  age)  หรือหย่านมเมื่อลูกแพะสามารถกินหญ้าแห้งและอาหารข้นได้มากแล้ว
  
4.      การให้อาหารแพะรุ่น
แพะรุ่นควรให้อาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต  สร้างความเจริญเติบโต  แต่ต้องไม่
มากจนอ้วน  ถ้ามีอาหารหยาบคุณภาพดี  มีพื้นที่มากพอให้แพะรุ่นได้ออกกำลังกาย  จะช่วยเสริมสร้างให้แพะรุ่นโตเร็วขึ้น  และควรให้อาหารข้นร่วมด้วยประมาณ  0.12-0.7  กก.  (โปรตีน  20%) มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของหญ้าที่กิน
5.      การให้อาหารแพะพ่อพันธุ์
แพะพ่อพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ผสมให้กินหญ้าในแปลงอย่างเดียวก็พอแล้ว  ถ้าไม่มีแปลงหญ้าคุณภาพดี 
อาจใช้หญ้าแห้งคุณภาพดีเลี้ยงแทน  แต่ควรให้อาหารข้นเสริมด้วยประมาณวันละ  0.7  กก.  แต่ต้องดูแลอย่าให้พ่อแพะอ้วน  พ่อแพะก่อนปล่อยคุมฝูง  2  สัปดาห์  ให้อาหารข้นวันละ  0.5-0.9  กก.  และให้กินไปตลอดฤดูกาล  จนกว่าจะงดผสมพันธุ์  ให้พ่อพันธุ์ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  มีแร่ธาตุให้เลียกินตามชอบ  จัดน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา

เอกสารอ้างอิง
1.       เจือ  สุทธิวานิช.  2528.  หลักและแนวทางการปรับปรุงพันธุ์แพะพื้นเมือง  ภาคใต้.  ภาควิชาสัตวศาสตร์ 
                   คณะทรัพยากรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
2.      ถวัลย์  วรรณกุล.  2542.  การเลี้ยงและการป้องกันรักษาโรคแพะ.  สำนักพิมพ์สัตว์เศรษฐกิจ.  กรุงเทพฯ.
3.      บุญเสริม  ชีวอิสระกุล.  2546.  การเลี้ยงดูและจัดการแพะ.  ภาควิชาสัตวศาสตร์  คณะเกษตรศาสตร์ 
                    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
4.      ลักษณ์  เพียซ้าย  และศุภนุช  ใจคำ.  2548.  ระบบการผลิตและการจัดการฟาร์มแพะ-แกะ.  ศูนย์วิจัยและ
                    พัฒนาสัตว์เคียวเอื้องขนาดเล็ก  สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ  มก.  นครปฐม.
5.      สีกุน  นุชชา  และ  ชำนาญ  ศรีช่วย  .  2535.  เอกสารประกอบการบรรยายเรื่องโรคแพะ. วิทยาลัยเกษตร
                    และเทคโนโลยีตรัง.
6.      สุชาติ ชัยวรกุล.  2532.  การเลี้ยงแกะ.  โรงพิมพ์มิตรสยาม  กรุงเทพฯ.
7.      ศิริชัย  ศรีพงศ์พันธุ์.  2531.  การผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก.  เอกสารคำสอน.  ภาควิชาสัตวศาสตร์ 
                    คณะทรัพยากรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
8.    อัมพา  คำวงษา  และสมภพ  ศรีสอาด.มปพ.  แพะ.  สนพ.  นาคา  อินเตอร์มีเดีย  จำกัด.  กรุงเทพฯ.

Rank: 1

จังหวัด
สระบุรี
กระทู้
7
โพสต์
38
จำหน่ายอาหารแพะ แกะ วัว (สมชายข้าวโพดหมัก) ข้าวโพดแป้งน้ำหนัก 25 กิโลกรัม/กระสอบครับ
ติดต่อ081-947-2414 081-3551-552
ราคาย่อมเยาเป็นกันเอง บริการส่ง  อยู่ อำเภอบ้านหมอ  จังหวัด สระบุรี
ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาลงทะเบียน
คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

สมาคมผู้เลี้ยงแพะ-แกะแห่งประเทศไทย

GMT+7, 20-4-2024 21:22

Powered by Discuz! X2

© 2001-2011 Comsenz Inc.

ขึ้นไปด้านบน