สมาคมผู้เลี้ยงแพะ-แกะแห่งประเทศไทย

ชื่อกระทู้: บทความแพะ จาก หมอบุ๊ค อัพเดทล่าสุด 17-10-57 การใช้ยาถ่ายพยาธิ [สั่งพิมพ์]

โดย: TurnPro    เวลา: 18-1-2014 17:36:08     ชื่อกระทู้: บทความแพะ จาก หมอบุ๊ค อัพเดทล่าสุด 17-10-57 การใช้ยาถ่ายพยาธิ

ผมจะพยายามอัพบทความไว้ในกระทู้นี้นะครับ แต่ถ้าใครสงสัยเรื่องโรคให้ไปที่กระทู้ของผมหรือหมอก้องนะครับ อันนี้ขอความร่วมมือจริงๆครับจะได้ไม่ปนกันมั่วคนมาดูทีหลังได้ศึกษาได้

วันนี้มาที่เรื่องหลายคนอาจละเลยแต่เป็นสิ่งสำคัญครับ นมน้ำเหลือง
นมน้ำเหลืองคือ นมที่ได้จากแม่ที่คลอดลูกใหม่ๆครับ ซึ่งมีประโยชน์มหาศาลต่อลูก โดยสำคัญที่สุดคือเรื่องระบบภูมิคุ้มกันโรคจากตัวแม่ถ่ายทอดมาให้ลูกได้ทำให้ลูกแข็งแรง โตไว ไม่ป่วยต่อโรคง่ายๆครับ

1 แพะแรกคลอดจะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคมาเลยนะครับ จึงต้องให้กินนมน้ำเหลืองโดยเร็วที่สุด
2 ระบบภูมิคุ้มกันแพะที่สร้างขึ้นมาเองนั้นจะเริ่มทำงานได้ที่ 3 สัปดาห์ขึ้นไปจึงเป็นเหตุที่ทำไมต้องกินนมแม่ก่อนเพื่อเอาภูมิจากแม่มาป้องกัน
   ก่อนที่อายุจะถึงสร้างภูมิคุ้มกันเองได้
3 นมน้ำเหลืองมีโปรตีนและสารอาหารที่ลูกแพะต้องการสูงมากกว่าอาหารทั่วไปถึง 5 เท่า
4 นมน้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันโรคจากแม่นั้นจะถึงส่งผ่านภายใน 18 ชั่วโมงหลังคลอดเท่านั้น ถ้าช้ากว่านั้นจะเป็นเหมือนนมเปล่าที่ให้แค่พลังงานและสารอาหร
5 ข้อควรปฏิบัติหลังแม่แพะคลอดเราไม่ควรไปทำอะไรกับตัวแพะมาก เน้นให้ลูกมันได้กินนมน้ำเหลืองให้มากที่สุดในช่วงเวลาที่บอกไป
   ถ้าจะทำอะไรกับตัวแพะรอให้หนึ่งวันผ่านไปก่อน ถ้าไม่ใช่ปัญหาที่ส่งผลต่อแพะมากจริงๆครับ
   จะช่วยลูกได้ก็ทำแค่ตัดสายสะดือแล้วจุ่มทิงเจอร์พอครับอย่างอื่นอย่าไปยุ่งกับมัน

คร่าวๆประมาณนี้ แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญมากในการที่อยากได้ลูกแพะโตไว สุขภาพ แข็งแรงครับ



โดย: TurnPro    เวลา: 19-1-2014 07:01:53

โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and mouth disease)
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส เอฟ เอ็ม ดี (FMD) ที่พบในประเทศไทยมี 3 ไทป์ คือ โอ (O) เอ (A) และเอเชียวัน (Asia I) เชื้อทั้ง 3 ไทป์นี้ จะทำให้สัตว์ป่วยแสดงอาการเหมือนกัน แต่ไม่สามารถให้ภูมิคุ้มกันต่างไทป์ได้ กล่าวคือถ้าฉีดวัคซีน เอฟ ไทป์ เอ ให้ หรือสัตว์เคยป่วยเป็นโรคเอฟ ไทป์ เอ มาก่อน สัตว์จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อโรคเอฟ ไทป์เอ เท่านั้น แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเอฟไทป์ โอ หรือ ไทป์ เอเชียวัน ดังนั้นหากมีโรคเอฟ ไทป์ โอ หรือเอเชียวันระบาดสัตว์ก็อาจจะติดโรคได้ โรคนี้มีระยะฟักตัว ประมาณ 2-8 วัน


อาการ
แพะที่เป็นโรคนี้ จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะมีเม็ดตุ่มพอง เกิดที่ริมฝีปากในช่องปาก เช่น เหงือกและลิ้น ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเกิดเม็ดตุ่มที่ระหว่างช่องกีบ ไรกีบ ทำให้เจ็บมาก เดินกะเผลก เมื่อเม็ดตุ่มแตกออกอาจมีเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ทำให้แผลหายช้าขณะที่โคเป็นโรคจะผอมน้ำนมจะลดลงอย่างมาก ในโคอัตราการติดโรคสูงถึง 100% อัตราการตาย 0.2-5% ในลูกโคอัตราการตายอาจสูงถึง 50-70% โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกโคที่ยังดูดนมอัตราการตายอาจสูงถึง 100%



การตรวจวินิจฉัย
เนื่องจากวัคซีนแต่ละไทป์ไม่สามารถให้ความคุ้มข้ามไทป์กันเมื่อมีสัตว์ป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย ควรตรวจให้รู้ว่าเป็นไทป์ไหนเพื่อจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันไทป์นั้น


การรักษา
ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน แผลจะหายเองใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าแผลมีการติดเชื้อให้ทำความสะอาดแผล สำหรับที่กีบใส่ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ฉีดและใช้ยาป้ายแผล เช่น เพ็นไดสเตรป แอล เอ และใช้สำหรับที่ปากป้ายด้วยยาสีม่วง (เจนเชียนไวโอเลท)


วัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย สำหรับโค-กระบือ เป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำ (Aqueous vaccine) ผลิตจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย

[attach]11095[/attach]

การใช้        ใช้ฉีดป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย สำหรับโค กระบือ แพะ แกะ
ส่วนประกอบ        เป็นวัคซีนไทป์โอ เอ และเอเซียวันสเตรนท้องถิ่น มีการผลิตแบบชนิดไทป์เดียว (Monovalent)
ชนิดรวม 2 ไทป์ (Bivalent) ชนิดรวม3 ไทป์ (Trivalent)

วิธีการใช้
ก่อนใช้เอาวัคซีนออกมาตั้งไว้ก่อนให้หายเย็นโดยสังเกตุง่ายคือให้หยดน้ำที่เกาะที่ขวดหมดไปหลังจากเราใช้ผ้าเช็ดหยดน้ำออกแล้วไม่มีหยดน้ำเกิดขึ้นอีกครับ ซึ่งกระบวนการที่บอกนี้ใช้เวลาไม่เกิดสองชั่วโมงครับที่เอาวัคซีนมาตั้งข้างนอกครับ ซึ่งมันไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่น้อยลงไปเลยครับ
โดยถ้าทำได้จะช่วยลดการแพ้วัคซีนได้อย่างมากเลย ดีกว่าเอาออกจากตู้แล้วไปฉีดเลยเพราะจะเกิดภาวะ cold shock ได้ครับ        
ฉีดวัคซีนครั้งแรกตั้งแต่อายุ 4 เดือนถึง 6 เดือน
ฉีดครั้งที่ 2 หลังจากฉีดครั้งแรก 3 - 4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำทุก 6 เดือน
ในกรณีที่เกิดโรคระบาด ให้ฉีดวัคซีนซ้ำทันทีทุกตัว
ก่อนใช้ต้องเขย่าขวดให้วัคซีนเข้ากันดีทุกครั้ง
ขนาดฉีด        ตัวละ 2 มล.เข้าใต้ผิวหนัง
ความคุ้มโรค        สัตว์จะมีความคุ้มโรคหลังจากฉีดวัคซีน 3 - 4 สัปดาห์ และมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 6 เดือน


การเก็บรักษา        เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 4-6 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง ถ้าถามว่าช่องไหนในตู้เย็น คือช่องใต้ช่องฟรีสครับที่เป็นถาดพลาสติกใสจะดีที่สุดถ้าแช่ช่องนั้น
พยายามใช้วัคซีนให้หมดทุกครั้งที่เปิดแล้วเพราะจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพที่สุด ควรจัดโปรแกรมฉีดตามที่บอกคือทุกหกเดือนทุกตัวในฟาร์ม ยกเว้นตัวที่อายุไม่ถึงครับ

ข้อควรระวัง        
ควรฉีดวัคซีนก่อนการผสมพันธ์
ควรระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์และตำแหน่งที่ฉีด
ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการแพ้วัคซีน แก้ไขโดยฉีดแอดรีนาลีน 1:1000 เข้ากล้ามเนื้อ0.5-1 มล. ต่อน้ำหนัก 50 กก.
หรือฉีดเด็กซ่า 0.2 ในแพะโต 5 ซีซี แพะเล็ก 2.5 ซีซี ให้ติดต่อกันสองวัน
หมายเหตุ ในกรณีเกิดภาวะโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทันที


เครดิต กรมปศุสัตว์






โดย: สามพีฟาร์ม    เวลา: 22-1-2014 11:48:16

ฉีดวัคซีนปากเท้าเปื่อยแล้ว ทุก 6 เดือน พอครั้งที่สองหลังจากฉีดวัควีนได้สองสามวัน แพะปากเปื่อยเกือบทั้งฝูงเป็นเฉพาะแพะรุ่นๆๆกับลูกแพะ แต่เป็นเองหายเองส่วนใหญ่ ฉีดยากับทายาม่วง มีตายสามสี่ตัวปากเป็นหนอน เพราะอะไรไม่รู้
โดย: TurnPro    เวลา: 24-1-2014 07:32:39

ต้นฉบับโพสต์โดย สามพีฟาร์ม เมื่อ 22-1-2014 11:48
ฉีดวัคซีนปากเท้าเปื่อยแล้ว ทุก 6 เดือน พอครั้งที่สอง ...

ขอแก้คำตอบนิดหนึ่งนะครับ เกิดการแพ้วัคซ๊นนั้นมันคือการแพ้สื่อน้ำมันของตัวละลายวัคซีนครับเนื่องจากเกิดจากสภาวะแวดล้อมต่างๆในช่วงที่สัตว์ทำวัคซีนด้วยครับทำให้เกิดการตอบสนองต่อภูมิมากเกินไป hypersensitivity ประเภทต่างๆอีกด้วย
ทำให้ภูมิคุ้มกันสัตว์ต่ำลงส่งให้เกิดการติดโรคแทรกซ้อน ตามเคสที่เกิดขึ้นผมมองว่าเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคปากเปื่อยซึ่งไม่เหมือนกันกับโรคปากเท้าเปื่อยครับ เพราะจะแสดงอาการใกล้เคียงกันแต่ความรุนแรงจะน้อยกว่า และรักษาหายได้ครับที่เกิดขึ้น

ส่วนที่บอกให้วางวัคซ๊นทิ้งไว้ก่อนนั้นเพราะลดการแพ้จากตัวสื่อที่มีความเย็นจัดเข้าไปในร่างกายสัตว์ทำให้ภูมิคุ้มกันกระตุ้นขึ้นมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมนี้เรียกภาวะว่า cytokine strom ทำให้ ร่างกายสัตว์ป่วย อุณหภูมิสูงจนถึงขึ้นช๊อคได้จึงแนะนำให้วางไว้ข้างนอกก่อนนำวัคซ๊นไปฉีดทันทีจะช่วยลดการเกิดภาวะตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันมากเกินไปได้ครับ

ประมาณนี้ครับถ้าอยากได้ละเอียดถามเพิ่มมาได้ครับจะตอบให้ครับ

โดย: TurnPro    เวลา: 25-1-2014 21:45:07

โรคปากเปื่อยในแกะและแพะ คนละโรคกันกับโรคปากเท้าเปื่อยนะครับแยกให้ออกจะงงกันอยู่บ่อยๆ
Contagious Ecthyma (Orf/Sore Mouth) in Sheep and Goats

ลักษณะทั่วไปของโรค
“โรคปากเปื่อยในแพะและแกะ” มีชื่อเรียกหลายอย่าง อาทิเช่น contagious ecthyma, scabby mouth แต่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ orf หรือ sore mouth เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Pox virus (Parapoxvirus) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวสัตว์ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมได้นานหลายปี โรคนี้เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease)

การติดต่อ
การติดต่อในสัตว์ สัตว์สามารถติดเชื้อไวรัสได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วย หรือ อาจติดเชื้อจากสะเก็ดแผลที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนกับอุปกรณ์ และสิ่งแวดล้อม อาทิ เช่น ที่นอน อาหาร หรือรถยนต์พาหนะ โดยเชื้อไวรัสจะผ่านผิวหนังเข้าทางรอยแผลถลอกหรือบาดแผลขนาดเล็ก การนำสัตว์ไปแสดงหรือจัดนิทรรศการ และการประกวดสัตว์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากสัตว์จากฟาร์มต่างๆมีโอกาสสัมผัสและติดเชื้อทางจมูกขณะอยู่ในคอกที่อยู่ติดกัน และกรรมการผู้ตัดสินการประกวดอาจเป็นบุคคลที่นำเชื้อจากสัตว์ป่วยหรือสัตว์พาหะไปติดสัตว์ที่ปกติได้ โดยในขณะทำการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากของสัตว์ที่เข้าประกวดจากหลายๆฟาร์มในวันเดียวกันโดยไม่มีการเปลี่ยนถุงมือหรือเสื้อผ้า
การติดต่อจากสัตว์สู่คน คนสามารถติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค scabby mouth จากสัตว์หรือเครื่องมือที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้ได้ เคยมีรายงานว่าเชื้อไวรัสสามารถเข้าทางผิวหนังของคนขณะทำวัคซีนป้องกันโรค scabby mouth ชนิดเชื้อเป็นให้แก่แกะ ทำให้เกิดแผลเจ็บปวด  โดยปกติแผลจะหายเป็นปกติโดยไม่มีแผลเป็นภายในระยะเวลา 1-2 เดือน

อาการและรอยโรค
ในระยะแรกจะพบรอยโรคมีลักษณะเป็นผื่นนูน (papules) ต่อมาจะกลายเป็นแผลพุพอง (blisters) หรือ ตุ่มหนอง (pustules) แล้วตกเป็นสะเก็ดแผลในที่สุด บริเวณส่วนของร่างกายที่มักพบรอยโรคได้แก่ ริมฝีปาก รูจมูก ใบหู รอบตา ง่ามเท้า ขา เต้านม และอวัยวะสืบพันธุ์ (รูปที่ 2-4) ในกรณีที่พบรอยโรคที่เท้าหากเป็นมากจะทำให้สัตว์มีอาการเจ็บเท้าทั้งในสัตว์ที่โตแล้วและสัตว์อายุน้อยๆ ในลูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้และมีรอยโรคที่ปาก อาจทำให้การดูดนมแม่หรือกินอาหารลำบาก จึงต้องมีการอนุบาลสัตว์ป่วยเป็นกรณีพิเศษ เช่น ป้อนด้วยขวดนม หรือ ให้อาหารทางหลอดให้อาหาร (tube feeding) เป็นต้น

การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคนี้จะสังเกตจากอาการ และประวัติสัตว์ในฝูง รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยให้วินิจฉัยแยกจากโรคบลูทังค์ (Bluetongue) โรคปากและเท้าเปื่อย (Food and Mouth Disease; FMD) โรคผิวหนังจากการติดเชื้อราชนิด Dermatophilus congolensis (Dermatophilosis) โรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และกลุ่มอาการผิวหนังเกิดอาการแพ้แสง (Photosensitization)

การรักษา
ในกรณีที่สัตว์มีอาการและรอยโรคไม่มากนัก อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ เนื่องจากสัตว์จะมีอาการดีขึ้นเองในเวลาประมาณ 1 เดือน เว้นแต่กรณีที่แผลมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือมีตัวอ่อนของแมลงวัน (maggot) ในบาดแผล อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และควบคุมกำจัดหนอนแมลงที่บาดแผลโดยให้ยาโรยกำจัดตัวอ่อนของแมลง
การควบคุมและป้องกันโรค
ในสัตว์
1.การทำวัคซีนป้องกันโรคปากเปื่อยในแกะและแพะ (scabby mouth) ชนิดเชื้อเป็น จะพิจารณาทำวัคซีนในกรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของโรคนี้ ในลูกแกะควรทำวัคซีนเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน และฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster) อีกครั้งใน 2-3 เดือนต่อมา โดยสัตว์จะมีภูมิคุ้มกันหลังจากการทำวัคซีนแล้ว 14 วัน

2.กรณีฝูงสัตว์ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสโรคปากเปื่อยแล้วหายป่วย จะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตามสัตว์อาจมีการติดเชื้อได้มากกว่าหนึ่งครั้งในชั่วชีวิต โดยหากมีการติดเชื้อซ้ำแล้วสัตว์จะไม่แสดงอาการรุนแรงเท่ากับการติดเชื้อในครั้งแรก กรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องให้สัตว์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคปากเปื่อยอีก
ในคน
สวมถุงมือเมื่อสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะย่างยิ่งขณะเปิดปากหรือจมูกที่มีรอยโรคปากเปื่อย และหลังสัมผัสหรือทำงานกับสัตว์ป่วยหรือขณะกำลังทำวัคซีน และให้ล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

[attach]11138[/attach]

[attach]11139[/attach]
โดย: v.udomsub    เวลา: 27-1-2014 08:39:52

คุณหมอครับผมขออนุญาติถามนิดนึงครับ
ที่ฟาร์มผมมีวัว,แพะ,แกะ ผมฉีดวัคซีนปากเท้าเปลื่อยแบบปูพรมมาทุกครั้งคือฉีดทุกตัวไม่ว่าจะตั้งท้องหรือไม่ท้อง
ฉีดมาแล้ว9ปีไม่เคยมีปัญหาเหมือนปลายปีที่แล้วเลยคือหลังจากฉีดวัว1แม่แกะ1แม่แพะ7แม่ เกิดอาการแท้งลูกครับ
ผมก็เลยคิดไม่ตกว่าเกิดจากอะไร และกำหนดฉีดก็มาถึงอีกแล้วผมก็ยังขยาดอยู่เลยทำงัยดีครับคุณหมอ

โดย: สามพีฟาร์ม    เวลา: 28-1-2014 13:57:13

ขอบคุณครับหมอ
โดย: TurnPro    เวลา: 31-1-2014 17:29:48

ต้นฉบับโพสต์โดย v.udomsub เมื่อ 27-1-2014 08:39
คุณหมอครับผมขออนุญาติถามนิดนึงครับ
ที่ฟาร์มผมมีวัว, ...

ผมไม่สามารถฟันธงได้นะครับว่าเกิดจากอะไรแต่ยังไงรบกวนคราวหน้าลองเก็บซากลูกที่แท้งไปตรวจหาโรคครับเพราะแต่นี้บอกยากเพราะวัคซีนอาจไม่ใช่สามารถหลักที่ทำให้แท้งแต่ก็มีส่วนถ้ามีอาการแพ้ตัวสื่อของวัคซีนทำให้เกิดการอักเสบ ปวด แดงร้อนภายในร่างกายแม่ทำให้ความร้อนนั้นส่งไปสู่ตัวลูกได้ครับ แต่ต้องยืนยันอีกทีว่าสาเหตุที่ตายเกิดจากตัวโรคที่แฝงอยู่ในตัวแม่ไหมแล้วรอเวลาที่แม่อ่อนแอลด โดยครั้งนี้น่าจะเกิดจากการแพ้สื่อของวัคซีนครับ ยังไงลองให้รายละเอีดผมเพิ่มเติมที่นะครับ
1 ลูกที่ตายมีลักษณะอย่างไรมีรูปประกอบได้ยิ่งดีเพราะผมดูลูกที่แท้งจะพอบอกได้ว่าเกิดจากอะไรครับ
2 เวลาที่ทำวัคซีนช่วงเวลาไหน แม่สุขภาพปกติอยู่แล้วไหม รบกวนบอกวิธีทำวัคซีนด้วยครับ ว่าเอาวัคซ๊นออกจากตู้แล้วฉีดเลยไหมครับ
3 แล้วประวัติการตรวจโรคของฟาร์มประจำปีเป็นอย่างไรมั่งครับ อยากทราบถ้ามีผลเป็นใบกระดาษยิ่งดีครับ
โดย: v.udomsub    เวลา: 31-1-2014 20:46:31

ต้นฉบับโพสต์โดย TurnPro เมื่อ 31-1-2014 17:29
ผมไม่สามารถฟันธงได้นะครับว่าเกิดจากอะไรแต่ยังไงรบ ...

ที่ฟาร์มตรวจเลือดทุกๆ6เดือนตรวจแบบนี้มา4ปีแล้ว ระยะเวลาตรวจเลือดกับทำวัคซีนแท้งติดต่อจะห่างกัน1เดือนขึ้นไปครับผม


โดย: TurnPro    เวลา: 16-10-2014 19:48:00

ต้นฉบับโพสต์โดย v.udomsub เมื่อ 31-1-2014 20:46
ที่ฟาร์มตรวจเลือดทุกๆ6เดือนตรวจแบบนี้มา4ปีแล้ว ระย ...

เดี๋ยวยังไงวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคมนี้ ขออนุญาตแวะไปเยี่ยมชมฟาร์มด้วยนะครับผม ขอบคุณมากครับ
โดย: TurnPro    เวลา: 17-10-2014 20:52:59

วันนี้ขอแนะนำเรื่อง ยาถ่ายพยาธินะครับ
สาเหตุของการเกิดการดื้อยายาพยาธิ
1. เนื่องจากผู้เลี้ยงมีการใช้ยาโดยประเมินน้ำหนักสัตว์ด้วยสายตา ทำให้บางครั้งยาที่ได้รับน้อยกว่าปริมาณที่แท้จริงจำให้ยานั้นไม่เกิดประสิทธิภาพ แล้วบอกว่ายานั้นไม่ดี ดื้อยาไปครับ
- วิธีแก้ไข ควรมีการใช้สายวัดน้ำหนักสัตว์ที่มีขายทั่วไปมาช่วยในการประมาค่าเพราะจะคาดเคลื่อนน้อยกว่าใช้ตาวัดมาก สายวัดคาดเคลื่อนแค่ไม่เกิน 5 % จากน้ำหนักชั่งจริง
2. ถ่ายพยาธิโดยขาดความเข้าใจในประสิทธิภาพยาครับ เช่น ไอเวอร์เมคติน เราใช้ถ่ายกันเยอะโดยที่ไม่รู้ว่า ยานี้มันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการกำจัด ไข่ และตัวอ่อนของพยาธิได้ หรือได้น้อยมากทำให้เราตัดวงจรพยาธิไม่ขาดครับ
3. ไม่รู้แน่ชัดว่าพยาธิที่เจอและก่อปัญหาคือะอะไรไร เพราพยาธิแต่ล่ะตัว เราใช้ยาไม่เหมือนกัน หรือ ปริมาณโด๊สยาที่ให้สัตว์ไม่เท่ากันครับ ทำให้เกิดการดื้อยา และโทษว่ายาไม่มีประสิทธิภาพ
4.ใช้ยาไม่ครบตามกำหนดที่ใช้ตัดวงจรพยาธินั้นๆเพราะพยาธิแต่ล่ะชนิดนั้น มีวงจรชีวิตที่แตกต่างกันครับ เราต้องรู้ก่อนว่าฟาร์มเรามีปัญหาพยาธิอะไร
5. สลับกลุ่มยาไปมามั่ว ใครบอกอันไหนดีใช้อันนั้น ผสมปนกันไปทำให้สัตว์ได้รับยาไม่ครบกำหนดของยาแต่ล่ะชนิดทำให้เกิดการดื้อยาได้ครับ
6.โรคหลายๆโรคเกิดจากการจัดการ ถ้าไม่ทำควบคู่กันไปต่อให้ใช้ยาเทวดาก็ไม่มีทางหายครับผม

เครดิต ผศ.น.สพ.ดร.ปิยนันท์ ทวีถาวรสวัสดิ์
จากจุลสาร โรงพยาบาลปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ยาทุกตัวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องผมการการันตีว่าดีทุกตัวครับ มีประสิทธิภาพในการรักษาแน่นอน ปัญหาอยู่ที่การใช้ยามากกว่าที่เป็นปัญหาทำให้ยาไม่สามารถรักษาโรคได้

สุดท้ายอยากให้เราเอา Model ของการเลี้ยงไก่และหมูแบบอุตสาหกรรมมาใช้ครับ คือ การป้องกันโรคเข้ามาสู่สัตว์ เป็นสิ่งที่ีดีที่สุด อย่ารอให้เกิดโรคก่อนค่อยมารักษาครับ


โดย: v.udomsub    เวลา: 18-10-2014 07:53:06

ต้นฉบับโพสต์โดย TurnPro เมื่อ 16-10-2014 19:48
เดี๋ยวยังไงวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคมนี้ ขออนุญาตแวะไปเย ...

ยินดีต้อนรับครับผม
โดย: TurnPro    เวลา: 18-10-2014 16:51:50

อัพเดทบทความใหม่นะครับ เรื่องการถ่ายพยาธิ ครับผม อยากให้ลองมาอ่านแล้วนำไปปรับใช้ในฟาร์มกันครับ
โดย: admin    เวลา: 22-10-2014 22:49:31

25ต.ค57นี้พบกับหมอได้ที่ ว.อุดมทรัพย์ฟาร์ม  เรามีนัดการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ 2/2557 ครับ




ยินดีต้อนรับสู่ สมาคมผู้เลี้ยงแพะ-แกะแห่งประเทศไทย (http://www.thaigoatsheep.com/) Powered by Discuz! X2